ประวัติวิทยาลัย (History of College)
- Details
- Category: ข้อมูลทั่วไป
- Hits: 34407
วิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโกเป็นวิทยาลัยประเภทช่างอุตสาหกรรม จัดตั้งขึ้นโดยอนุมัติของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นวิทยาลัยสังกัดมูลนิธิคณะซาเลเซียนแห่งประเทศไทย อยู่ในความอุปการะของกรมประชาสงเคราะห์ และดำเนินกิจการโดยคณะนักบวชซาเลเซียน
ปีพุทธศักราช 2489 ได้เริ่มดำเนินกิจการเปิดโรงเรียนอาชีวะขึ้น โดยเช่าวังของพระองค์เจ้าบวรเดช ที่ถนนวิทยุ (สถานทูตเนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน) และเปิดสอนแผนกวิชาชีพช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างพิมพ์และช่างไม้ แก่นักเรียนที่เป็นเด็กกำพร้าและยากจน กลุ่มแรกจำนวน 35 คน โดยไม่เก็บค่าเล่าเรียนแต่อย่างใด ซึ่งถือเป็นนโยบายของโรงเรียนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เวลานั้นมีครูสอน 2 คน และบาทหลวงมารีโอ รูเซดดู เป็นอธิการชาวอิตาเลียนองค์แรก
ปีพุทธศักราช 2492 โรงเรียนได้ย้ายมาอยู่สถานที่ปัจจุบันที่ถนนเพชรบุรี และได้เปิดหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาวิชาช่างกลโรงงาน ช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างยนต์ และการพิมพ์ หลักสูตร ปวช. นี้ โรงเรียนมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือแก่เด็กกำพร้า เด็กยากจน และผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับการศึกษาวิชาชีพจนจบหลักสูตร โดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน
ปีพุทธศักราช 2495 ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้เล็งเห็นการณ์ไกลว่า โรงเรียนนี้จะเจริญก้าวหน้าเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติอย่างมากในอนาคต ท่านได้สละเงินสร้างอาคารเรียน 2 ชั้น เป็นตึกยาว 40 เมตร กว้าง 15 เมตร จำนวน 1 หลัง มอบให้อธิการโรงเรียน เพื่อใช้เป็นที่เรียนและที่พักอาศัย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ตึกหลังนี้มีอายุได้ไม่ถึง 4 ปี ก็ต้องถูกรื้อถอนเพราะรัฐบาลจำเป็นต้องตัดถนนตัดผ่านตัวตึกของโรงเรียนพอดี เมื่อตึกหลังนี้ถูกรื้อถอน ก็ต้องพยายามสร้างตึกใหม่ จึงได้ขอความช่วยเหลือจากผู้ใจบุญทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก ทำการสร้างตึกหลังใหม่เป็นโรงฝึกงาน 3 หลัง เป็นตึกชั้นเดียวกว้าง 12 เมตร ยาวหลังละ 50 เมตร โดยใช้เวลาทำการก่อสร้างทั้งสิ้น 3 ปี
ปีพุทธศักราช 2502 รัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับรัฐบาลเยอรมัน ทำการก่อสร้างตึกหลังใหม่แทนตึกหลังเก่าที่ถูกรื้อถอน โดยสร้างเป็นตึก 3 ชั้น กว้าง 15 เมตร ยาว 117 เมตร ขนานกับถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เป็นตึกที่เพิ่มความเป็นสง่าให้แก่ชุมชนย่านนี้ได้เป็นที่น่าภาคภูมิใจยิ่ง
ปีพุทธศักราช 2505 ได้สร้างโบสถ์ประจำโรงเรียน ซึ่งเป็นโบสถ์ที่โอ่โถงและสง่างาม เพื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆ และเพื่อขอโมทนาคุณพระเจ้า พร้อมทั้งขอพรจากพระ
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2515 ฯพณฯ พจน์ สาราสิน รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานเปิดงานฉลองครบรอบ 25 ปีของการก่อตั้งโรงเรียน
วันที่ 22 มิถุนายน พุทธศักราช 2516 ฯพณฯ ลูกัส เวร์มาเดอร์ส เอกอัครราชทูตเบลเยี่ยมประจำประเทศไทย พร้อมภริยา ได้เยี่ยมชมกิจการของโรงเรียน
วันที่ 28 พฤษภาคม พุทธศักราช 2517 ฯพณฯ วัน ด็อง เซน เอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยพร้อมภริยา ได้เยี่ยมชมกิจการของโรงเรียน
วันที่ 2 กรกฎาคม พุทธศักราช 2517 ฯพณฯ โซโร เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยพร้อมภริยา ได้เยี่ยมชมกิจการของโรงเรียน
วันที่ 30 กรกฎาคม พุทธศักราช 2517 สมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงและสมเด็จพระราชินีฟาบีโอลาแห่งประเทศเบลเยี่ยมได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมกิจการของโรงเรียนเป็นการส่วนพระองค์
ปีพุทธศักราช 2518 รัฐบาลประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ “โครงการทุนการศึกษาเพื่อครูดอนบอสโก” เป็นโครงการสนับสนุนครูให้ได้ศึกษาต่อในระดับอนุปริญญาและปริญญาตรีในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ หรือสถาบันเทคโนโลยีอื่นๆ เป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้กับบุคลากรครู เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น โครงการนี้ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นเวลา 15 ปี
วันที่ 5 กรกฎาคม พุทธศักราช 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดอาคารฝึกงานช่างกลโรงงานและตึกอาคารเรียนห้าชั้น พร้อมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการต่างๆ ของโรงเรียนทุกแผนก นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อนักเรียนและคณะผู้บริหารโรงเรียนดอนบอสโกอย่างหาที่เปรียบมิได้
วันที่ 10 กรกฎาคม พุทธศักราช 2529 เจ้าชายวิลเลม อเล็กซานเดอร์ มกุฎราชกุมารแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมกิจการของโรงเรียนเป็นการส่วนพระองค์
ปีพุทธศักราช 2529 โรงเรียนได้เปิดหลักสูตรพิเศษภาคค่ำ สอนวิชาชีพด้านการพิมพ์แก่คนพิการทางการได้ยิน (คนใบ้-หูหนวก) เป็นหลักสูตรสองปี
ปีพุทธศักราช 2536 โรงเรียนได้เปิดหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ใน 3 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาช่างเทคนิคอุตสาหกรรม สาขาวิชาไฟฟ้ากำลัง สาขาวิชาเทคนิคยานยนต์ และสาขาวิชาการพิมพ์ จะเปิดสอนในปีพุทธศักราช 2551 โดยเก็บค่าเล่าเรียน
วันที่ 27 มกราคม พุทธศักราช 2539 ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้เปิดงานฉลอง 50 ปีของการก่อตั้งโรงเรียน
วันที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2543 คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ มอบโล่เกียรติคุณแก่โรงเรียนดอนบอสโก เนื่องในโอกาสได้รับคัดเลือกให้เป็นองค์กรดีเด่น ที่ให้การสนับสนุนคนพิการ
วันที่ 14 มิถุนายน พุทธศักราช 2549 แผนกการพิมพ์ ได้รับอนุญาตให้เปิดเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาช่างพิมพ์ออฟเซต ประเภทป้อนแผ่น จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน
วันที่ 10 สิงหาคม พุทธศักราช 2549 เวลา 09.00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเปิดหลักสูตรวิชาชีพระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ สาขาการพิมพ์ (ปวช.) สำหรับคนพิการทางการได้ยิน ซึ่งมีเด็กผู้พิการฯ จำนวน 24 คน (ชาย 16 คนและหญิง 8 คน) เป็นนักเรียนรุ่นแรกของหลักสูตรฯ แห่งประวัติศาสตร์นี้ และทรงวางศิลาฤกษ์ตึกอนุสรณ์ 60 ปีของดอนบอสโก ในโอกาสฉลองครบรอบ 60 ปีของการก่อตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อยาวเชนไทยที่ยากจนและผู้ด้อยโอกาสแห่งนี้
พ.ศ. 2550 โรงเรียนได้ทำการเปิดวิชาการพิมพ์ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง โรงเรียนดอนบอสโก เป็นโรงเรียนอาชีวะแห่งเดียวของประเทศไทยและของทวีปเอเชีย ที่เปิดสอนหลักสูตรวิชาชีพระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แก่ผู้พิการทางการได้ยิน โดยเรียนร่วมกับนักเรียนปกติ ซื่งเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตด้วยศักดิ์ศรีแห่งความเท่าเทียมกันในสังคมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ปีการศึกษา 2555 พุทธศักราช 2555 โรงเรียนดอนบอสโก ได้เปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก เพื่อให้ตรงกับหลักสูตรที่ได้ทำการเปิดสอนในปัจจุบัน